สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดการประกวดเล่าเรื่องในหัวข้อ เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ รู้ รัก ภาษาไทย
วันที่ 26 พ.ค.67 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ศรีราชา แหลมฉบัง จ.ชลบุรี สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น” โซนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น ในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ประจำปี 2567 รอบชิงชนะเลิศ กลุ่มที่1 โดยมีเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนตัน (ม.1-3) จากโรงเรียนต่าง ๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตก เข้าร่วมประกวด โดยได้รับเกียรติจาก นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานมอบรางวัลในการประกวด โดยมีคณะกรรมการ แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ การประกวดครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2567 ส่วนโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ของแต่ละภาค ทั้งหมด 4 กลุ่ม จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567
นายศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ “เมืองไทยที่ฉันอยากเห็น คนไทยที่ฉันอยากเป็น” ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น ในโครงการ “รู้ รักภาษาไทย” การอนุรักษ์ภาษาไทย ภาษาถิ่น ไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เสริมสร้างภาษาไทยให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในระดับฐานรากและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครูภาษาไทยและครูประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องได้รับเพิ่มเติมองค์ความรู้ในสาขาเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ
สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมการประกวดแข่งขันในปีนี้เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) จากโรงเรียนต่าง ๆ ในแต่ละภาค โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วยภาษาถิ่นที่แสดงถึงความคิดเห็น ทัศนะ มุมมอง และความภาคภูมิใจที่มีต่อประเทศไทยและคนไทย ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือประเด็นที่ผู้เข้าประกวดสนใจ เช่น การมีรากเหง้า ทางประเพณี วัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ การมีจรรยามารยาท ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือค่านิยมอื่นๆ ที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานและมีแนวทางที่จะสืบสานเรื่องดังกล่าวให้คงอยู่กับประเทศไทยได้อย่างไร ด้วยภาษาไทยมาตรฐาน ภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ (โรงเรียนที่อยู่ในภาคใต้ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคใต้, โรงเรียนที่อยู่ในภาคเหนือ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ, โรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสาน เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน และโรงเรียนที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐาน)
โดยคณะกรรมการจะพิจารณาจากความสามารถในการใช้ภาษาถิ่น มีเนื้อหาที่ผู้ฟัง ประทับใจและมีลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างเป็น ธรรมชาติสมวัย”
สำหรับผลการตัดสินของคณะกรรมการ รางวัลชนะเลิศของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ได้แก่ นางสาวโจนิ แอริแอล มิทิกา โรงเรียนมารีวิทยาก บินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี -รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เด็กชายศุภณัฐ สายแก้ว โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” จังหวัดระยอง
-รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวณสนันทน์ รู้ขายสิรนนท์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ส่วนที่เหลืออีก 7 โรงเรียน ได้รับรางวัลชมเชยพร้อมเกียรติบัตร และทุนการศึกษา