สระแก้ว เปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่ 65 (มีคลิป)

สระแก้ว เปิดศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่ 65

[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=1eoP2xl9lb8[/embedyt]

*****เมื่อเวลา 10.30 น.ของวันที่ 29 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่บริเวณหน้าศูนย์ราชการจังหวัดสระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานปล่อยแถวและเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 นายอวิรุทธ์ วรกิตติ์ไพศาล. หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้วพร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานภาคีเครือข่าย องค์กรการกุศล และมูลนิธิอาสาสมัคร


*****โดยมีนายอวิรุทธ์ วรกิตติ์ไพศาล. หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2548 กำหนดให้วันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันที่เกิดภัยพิบัติรุนแรงของประเทศ และเพื่อให้เกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยและกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงความสูญเสียจากสาธารณภัย ด้วยในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี จะมีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 ส่งผลให้ประชาชนที่ทำงานต่างถิ่นเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาว รวมทั้งเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจากข้อมูลในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดสระแก้วเกิดอุบัติเหตุ 31 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 31 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมไม่สวมหมวกนิรภัย เมาสุรา และขับรถด้วยความเร็ว ถนนที่เกิดเหตุมากที่สุด คือถนนสายรอง ได้แก่ ถนนของ อบต. หมู่บ้าน ในช่วงเวลาค่ำ สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 นี้

จังหวัดสระแก้ว ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ถึง วันที่ 4 มกราคม 2565 (รวม 7 วัน) มีการตั้งจุดตรวจหลัก จำนวน 24 จุดตรวจ จุดบริการ 45 จุด และด่านชุมชน จำนวน 491 จุด ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน บูรณาการร่วมกันโดย ใช้กลไกประชารัฐเป็นแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ ภายใต้แนวคิดการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” พร้อมกำหนดมาตรการเน้นหนัก ได้แก่ มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย 10 รสขม (1 ร. 2 ส. 3 ข. 4 ม.) 1ร. ได้แก่ 1) ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด , 2ส. ได้แก่ 1) ขับรถย้อนศร 2) ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร , 3 ข. ได้แก่ 1) ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 2) ไม่มีใบขับขี่ 3) แซงในที่คับขัน และ 4ม. ได้แก่ 1) เมาสุรา 2) ไม่สวมหมวกนิรภัย 3) มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 4) ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ อย่างเข้มงวด และจริงจัง อีกทั้งยังมีการจัดตั้ง “ด่านชุมชน” ในทุกชุมชน เพื่อสกัดและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในการใช้รถใช้ถนนในทุกหมู่บ้าน


*****นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า อุบัติภัยและอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศด้วย เหตุนี้ จึงหวังว่าทุกภาคส่วน จะได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2565 โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง ผ่านการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานทหารในพื้นที่ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่าง ๆ และประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมและเป็นเจ้าภาพในการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ ร่วมจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ด่านชุมชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด และเพื่อดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เพื่อให้การเดินทางของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ของจังหวัดสระแก้ว เป็นไปด้วยความสุข และถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย ต่อไป


*****นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ช่วงในเทศกาลปีใหม่ ทางสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้เตรียมการรองรับอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นด้านแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาลทุกแห่งให้เตรียมพร้อมร่วมไป รพ.สต.ทุกแห่งตลอดหน่วยกู้ชีพ มาตรการการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 กรณีสายพันธุ์ Omicron ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 จังหวัดสระแก้ว กรณีผู้เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยไม่กักตัวภายใต้โครงการ Test & Go และเดินทางเข้าออกจังหวัดสระแก้ว จะต้องปฏิบัติไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ (ปลัดเทศบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) ทันทีที่เดินทางมาถึง โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ (สสอ./รพ./รพ.สต.) ตรวจสอบ ควบคุม กำกับ ติดตาม ให้คำแนะนำ และตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี Antigen test kit (ATK) ครั้งที่ 1 ทันทีที่เข้าพื้นที่ และตรวจ ครั้งที่ 2 นับจากวันเข้าประเทศ 7 วัน โดยผู้ที่เดินทางมาต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด – 19 โดยให้แยกตัวเองเพื่อคุมไว้สังเกต 7 วัน และเฝ้าระวังสังเกตตนเอง หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที สำหรับกรณีพักที่โรงแรมหรือที่พักเอกชนหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เจ้าของผู้จัดการสถานที่จัดทำทะเบียนบันทึกรายการต่าง ๆ ของผู้เข้าพัก แล้วให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ และปฏิบัติตามเช่นเดียวกับกรณีข้างต้น

***ภาพ/วีระยุทธ สารการ /ข่าว สมศักดิ์ สารการ /บูรพาทีวีออนไลน์ รายงาน

Related posts