(รายงานพิเศษ)ขึ้นศกใหม่ของ ปีชวดหนู พ.ศ.2563 พร้อมกับข่าวร้ายของชาวสวนยาง
ขึ้นศกใหม่ของ ปีชวดหนู พ.ศ.2563 พร้อมกับข่าวร้ายของชาวสวนยาง ที่ราคาน้ำยางสดถูกพ่อค้าคนกลาง รับซื้อเพียงกิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนราคายางแผ่นรมควัน จะเป็น กก.ละ กี่บาท ไม่มีความสำคัญกับชาวสวนยางมากนัก เพราะชาวสวนยางกว่า ร้อยละ 80 ในภาคใต้ ต่างนิยมการขายน้ำยางสด ให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น ที่ตั้งจุดรับซื้อน้ำยางสด จากชาวสวนตามจุดต่างๆ
ดังนั้นราคายางพาราในวันนี้ จึงตรงกับคำว่า “4 โลร้อย” และ อาจจะต่ำกว่านี้อีกหรือไม่ ยังไม่มีใครกล้าที่จะ”ฟันธง” ในขณะที่ ปลาทู ในตลาดสด ขายกันที่กิโลกรัมละ 130 บาท ซึ่งเท่ากับว่า ยาง 4 กิโล ยังซื้อ ปลาทูสด 1 กิโลกรัมยังไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ อนาคตของชาวสวนยางจะอยู่กันอย่างไร
เพราะการประกันราคายาง ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้อยู่ในขณะนี้นั้น เป็นการใช้งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่องบประมาณหมด ชาวสวนยางก็ต้องกลับมารับสภาพที่แท้จริง นั่นคือต้อง “จมปลักดัดดาน” อยู่กับอาชีพการทำสวนยาง ที่ไม่มีความแน่นอน และความมั่นคง อีกต่อไป
เพราะอาชีพของการทำสวนยาง เริ่มจะมองเห็นอนาคตที่ไม่สดใส และไม่มีความแน่นอนว่า ราคายางจะสามารถกลับมาสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ให้กับ เจ้าของสวน และ ลูกจ้าง อีกเมื่อไหร่ จึงไม่แปลกที่ใน 2 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นชาวสวนส่วนหนึ่ง ที่มีทุน และมองเห็น ปัญหา อุปสรรค ของการทำสวนยาง เริ่มโค่นต้นยางทิ้ง และหันไปปลูก พืชชนิดอื่นทดแทน
เช่นเดียวกับ คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งคนที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ เหมือนกับ”เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” เพราะ นอกจาก ราคายาง ราคาลองกอง ราคามังคุด ไม่เป็นราคา แล้ว ในพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องของความไม่สงบ มีการก่อเหตุร้าย จนกระทบกับการประกอบอาชีพทางการเกษตร เพราะพื้นที่ในการทำมาหากิน ไม่มีความปลอดภัย
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลัก ในการร่วมมือ ร่วมใจกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงเป็นด้านหลัก ซึ่งมองเห็นถึง ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ ถ้าปล่อยให้ เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างที่ผ่านมา อนาคตของ เกษตรกร ต้องประสพปัญหา ของความ ยากจน ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบกับ ครอบครัว แล้ว ยังส่งผลกระทบถึง การพัฒนาพื้นที่อย่างแน่นอน
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) กล่าวว่า ศอ.บต. มองเห็นปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งตลอดมานิยมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ที่ทำสวนยาง ก็ทำสวนยาง ลองกอง ก็ทำสวนลองกอง เพียงอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อ ราคายางตกต่ำ คาราลองกอง ตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา ทำให้เกษตรกรชาวสวนได้รับความเดือนร้อน เป็นอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะในห้วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ที่ราคายางตกต่ำ เกษตรกรชาวสวนยาง จึงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
เพราะในขณะที่ ราคาพืชผล ราคายางตกต่ำ แต่ต้นทุนในการ บริหารจัดการ ในการทำสวนยางของเกษตรกร ไม่ได้ต่ำลงมาด้วย เช่นปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งค่าแรงในการจ้างคนงาน มีแต่แพงขึ้น เป็นการ ซ้ำเติม ให้ เกษตรกรต้อง แบกรับ ต้นทุน และการ ขาดทุน จนเกษตรกรบางราย ต้องทิ้งสวน ไปประกอบอาชีพอื่นๆ และ โยกย้าย ไปทำงานในต่างพื้นที่ ก็มี
ทางออก ของ ผู้เป็นเกษตรกรใน 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จังหวัดสงขลา ในวันนี้ มีทางเลือกที่มากขึ้น เพราะใน 3 ปีที่ผ่านมา ศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ เปลี่ยนมาปลูกพืช”ทางเลือก” ชนิดอื่นๆที่ นอกจาก ยางพารา และ ลองกอง คือการ ปลูกกาแฟโรบัสต้า ซึ่งเป็นพืชที่มีอนาคต และในอดีตในพื้นที่ จ.ยะลา เคยเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่ขึ้นชื่อ และจำหน่ายได้ในราคาที่ดีด้วย
วันนี้ มีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับการส่งเสริมจาก ศอ.บต. และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยแบ่งพื้นที่ มาปลูกกาแฟพันธ์โรบัสต้า ปลูกทุเรียน ปลูกมะพร้าว แทนที่จะปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว ซึ่งการปลูกพืชเพียงอย่างเดียวในพื้นที่ ถ้าราคาพืชผลตกต่ำ ก็จะไม่มีพืชผลชนิดอื่นเป็นตัวช่วย
วันนี้ ศอ.บต. ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรส่วนหนึ่ง ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าอย่างจริงจัง และวางแผนในการพัฒนาเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในเรื่องของ ราคาตกต่ำ ในอนาคต ด้วยการร่วมมือกับ การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย หรือ “or” ซึ่งเป็นองค์กรลูกของ ปตท. ที่รับผิดชอบในเรื่องการค้าปลีก เพื่อพัฒนาและรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ ปตท.มี ร้านกาแฟ “อะเมซอน” ซึ่งเป็น ของ ปตท.เอง เป็นที่รองรับการผลิตกาแฟของเกษตรกร
นอกจากกาแฟแล้ว ศอ.บต.ยังสนับสนุนให้ เกษตรกร ในพื้นที่ ทำสวนมะพร้าว เพราะขณะนี้มีกลุ่มทุนจากประเทศจีน ได้ก่อสร้างโรงงานแปรรูปมะพร้าว ในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งในอนาคตต้องมีวัตถุดิบที่เป็น ลูกมะพร้าว ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมแห่งนี้เป็นจำนวนมาก จึงจะเพียงพอกับการแปรรูป เกษตรกรที่ทำสวนมะพร้าวทั้งที่ทำอยู่ก่อน และกำลังปลูกใหม่ จะไม่ต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายนอกพื้นที่อีกต่อไป
และในแผนพัฒนาพลังงานของกระทรวงพลังงาน คือการอนุญาตให้ เอกชนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวะมวลขนาด 10 กิโลวัตต์ เพื่อขายไฟให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งในแผนการพัฒนาพลังงาน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีเอกชนลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวะมวลกว่า 100 โรง โดยกระจายตัวในทุกจังหวัด
โรงงานไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก ต้องอาศัยเชื้อเพลิงที่เป็น “ชีวะมวล” นั้นคือ ไม้ เศษวัสดุต่างๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มขาดแคลน โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง เริ่มมีปัญหาที่หา “เชื้อเพลิง” มาป้อนโรงงานในราคาแพง ศอ.บต.มองเห็นช่องทางที่จะให้เกษตรกรได้ประโยชน์ จากการเกิดขึ้นของ โรงงานไฟฟ้าชีวะมวล จึงได้ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ หน่วยงานการศึกษา และอื่นๆ โดยการ ส่งเสริมให้ เกษตรกรในพื้นที่ปลูกไม้ไผ่ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ในการ ป้อนโรงงานไฟฟ้าชีวะมวล ตลอดจนใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ไม้ไผ่ ที่ขณะนี้เป็นพืชเศรษฐกิจ ตัวใหม่ ในอนาคต
วันนี้ มีกลุ่มทุน จากประเทศเกาหลีใต้ ได้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแห่งแรกในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นโรงงานรับซื้อไม้ไผ่ เพื่อนำไปอัดแท่งเป็นถ่านชีวะมวล เพื่อใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้าในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อที่จะลดการใช้พลังงานชนิดอื่นๆในการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานสร้างมลภาวะ ให้เกิดขึ้น
ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่รกร้าง ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรจำนวน 300,000 กว่าไร่ ซึ่ง ศอ.บต. จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาสร้างประโยชน์ สร้างงาน สร้างเงิน ให้กับ เกษตรกร เป็น ทางเลือก อีกทางหนึ่งของเกษตรกร ในการปลูกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ขณะนี้ เกษตรกร ในพื้นที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกไม้ไผ่ไปแล้วกว่า 8,000 ไร่ เป็นการ “นำร่อง” เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรอื่นๆ
นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่ง”ทางเลือก” ของเกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของ สงขลา ที่อาจจะเป็น”ทางรอด” จากการทำการเกษตรแล้วยากจน เพราะราคาผลผลิตที่ตกต่ำภายใต้อุ้งมือของพ่อค้าคนกลาง แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น เกษตรกรชาวสวน ต้องคิดเป็น ต้องใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ในการทำการเกษตร และต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องกล้าตัดสินใจ โดยไม่ยึดติดอยู่กับ วิธีการเก่าๆ ของการ ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างในอดีต ซึ่งวันนี้ได้ส่งผลเสียให้เกิดขึ้นแล้ว
เรื่องยางพารากิโลกรัมละ 100 บาท ลองกองกิโลกรัมละ 50 บาท ไม่มีอีกแล้ว ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนทั้งหลาย จะต้องรู้จักปรับตัว เพื่อไปสู่การเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ที่ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทั้งด้านวิชาการ ด้านการตลาด การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้สามารถที่จะเป็นเกษตรกรสู่อนาคตของความ “มั่นคง “ ในชีวิต ส่วนในที่ไม่ยอมปรับตัว ก็อาจจะเป็น”ไดโนเสา” ตัวสุดท้าย ที่รอวันล้มลง
นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา