รัฐรุจน์ ปิยะพงศ์ภัทร์ ลุยงานช้างป่า หวังนำช้างป่าออกจากชุมชน พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 อาคารสำนักงาน ก.พ.(เดิม) กรุงเทพฯ ดร.รัฐรุจน์ ปิยะพงศ์ภัทร์ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมประชุมหารือกำหนดแนวทาง การแก้ไขปัญหาภัยจากช้างป่า ของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน โดยหวังว่าให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ นำช้างป่าออกจากชุมชน ป้องกันไม่ให้ช้างกลับเข้ามาอีก ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งจะสามารถต่อยอดพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยให้ชาวบ้าน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับแนวทางการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า นรากร นันทไตรภพ วิทยากรปฏิบัติการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 3 ได้สรุปและมีการเสนอแนะว่าการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดจากความเจริญเติบโตของเมืองและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ช้างป่าเกิดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และเกิดปัญหาช้างป่าเข้าไปหากินในพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร เกิดปัญหาช้างป่าทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของประชาชน
นับเป็นปัญหาสำคัญของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาแนวทางในการแก้ไข เพื่อจัดการให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการนำแนวทางตามร่างแผนการจัดการช้างป่า พ.ศ. 2561–2581 และแผนการจัดการช้างป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2570 มาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนนาแนวคิดของนักวิชาการซึ่งมีความเชี่ยวชาญมาช่วยแก้ไขปัญหาช้างป่า นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อจะได้มีการเตรียมตัวป้องกัน ระงับเหตุ การบุกรุกจากช้างป่า ได้อย่างทันท่วงที เช่น นำระบบภูมิศาสตร์สารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบพฤติกรรมของช้างป่า หรือการเคลื่อนย้ายถิ่นในการหาอาหาร เป็นต้น
ในขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายของภาครัฐด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยช้างป่าผ่านระบบการประกันภัยพืชผล เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ และป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากช้างป่า ซึ่งแผนการจัดการช้างป่าและการประกันภัยพืชผล นับเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้คนกับช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความยั่งยืนต่อไป
ภาพ/ข่าว น.ส.นภชนก เหมือนนามอญ บก.ชลนิวส์ทีวีออนไลน์ สัมภาษณ์ บริบูรณ์ บก.”ข่าวทั่วไทย”รายงาน 087-614-2444.