ระยอง-นักวิชาการจับมือภาคประชาสังคม สื่อสิ่งแวดล้อม ผุดโครงการ “ระยองไม่เทรวม” นำร่องเปิดศูนย์เรียนรู้ที่ อ.บ้านฉาง ตั้งเป้าเปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์ เพื่อสิ่งแวดล้อมเมืองระยองยั่งยืน
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.67 ที่ศูนย์เรียนรู้สวนป้านุลุงไก่เกษตรอินทรีย์ หมู่ 6 ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคม สื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันก่อตั้งศูนย์อบรม องค์ความรู้ และนวัตกรรมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ฐานชีวภาพ (Effective Microorganisms) เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นำโดย ดร.อบรม อรัญพฤกษ์(ดร.เอ) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาเมืองน่าอยู่ ดร.สมชาย พงษ์เทพิน(ดร.แก้ว) ผู้รับผิดชอบโครงการการพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม บริษัทกัลฟ์ นายจรัญ จันทร์มณี รองประธาน ทสม.จังหวัดระยอง ผู้ก่อตั้งเพจซูมระยอง นายวัฒนวัฒน์ สุขะวรรณทัศน์ ประธานศูนย์เรียนรู้สวนป้านุลุงไก่เกษตรอินทรีย์ นายเดชา สุวรรณสาร ผู้สื่อข่าวสายสิ่งแวดล้อม ประธานชมรมช่างภาพสื่อมวลชนระยอง ร่วมกันเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ และอุปกรณ์ในการอบรมตามโครงการ”ระยองไม่เทรวม สู่เมืองระยองยั่งยืน”
ศูนย์อบรม องค์ความรู้ และนวัตกรรมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ฐานชีวภาพ (Effective Microorganisms) เพื่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ระยองไม่เทรวม” สู่เมืองระยองยั่งยืน ซึ่งผ่านการเห็นชอบในหลักการของ นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในที่ประชุมคณะกรรมการการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดระยอง เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
โดยจะมีการเปิดศูนย์ฯอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ก.ย.นี้ โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมชมแปลงทดลองการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การใช้นวัตกรรมจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ( Effective microorganisms ) สาธิตถังหมักเศษอาหาร แบบเคลื่อนย้าย ถ่ายเทได้ การฟื้นฟูดิน น้ำ ระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ชมผลิตภัณฑ์ตัวอย่าง อีเอ็มบอล ปุ๋ยหมักชีวภาพ ชนิดละเอียด ชนิดเม็ด ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ฮอร์โมนเร่งดอกผล ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เป็นต้น จากนั้นจะเชิญทุกภาคีเครือข่ายร่วมเปิด โครงการ”ระยองไม่เทรวม” ณ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ บ้านฉาง ในวันที่ 26 ก.ย.67 ภายในงานมีนิทรรศการ ต้นแบบการแยกขยะเปียก เศษอาหาร การจัดการจุลินทรีย์ สาธิตให้ความรู้ขั้นตอนการทำจุลินทรีย์ และการเสวนาในหัวข้อ “ระยองไม่เทรวม สู่เมืองจุลินทรีย์ที่ยั่งยืน” เปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์ เพื่อสิ่งแวดล้อมเมืองระยองยั่งยืนต่อไป
เดชา สุวรรณสาร ภาพ-ข่าว