สนง.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบหลังชาวบ้านใน จ.ระยอง ร้องปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน หลังเดือดร้อนมานานกว่า 20 ปี
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ต.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุริยน พัชรครุกนนท์ รอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(สคทช.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบประเด็นปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดินทำกินของประชาชน ต.ห้วยโป่ง อ.เมืองระยอง ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง หลังเดือดร้อนมานานกว่า 20 ปี โดยได้รับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลสำนักท้อน มีนายสินธ์ กีรติยาคม ประธานกรรมการกลุ่มราษฎรผู้เดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ต.ห้วยโป่ง และ ต.สำนักท้อน ให้ข้อมูล พร้อมกับลงตรวจสอบพื้นที่ และรับฟังข้อมูลเท็จจริงจากชาวบ้านชุมชนบ้านชากหมาก-ห้วยกะปิ-ยายร้า-บ้านสุพรรณ-เขาภูดร-เขาหิน-บ้านเกาะเมืองชล-บ้านปู่ผาแดง-บ้านดังน้ำตาล-เขาคลอก-เชิงเขา-เนินสำเหร่-วัดซอยคีรี-หนองบอน และชุมชนห้วยโป่ง โดยมี น.ส.สว่างจิตต์ โลหะโรจนพันธุ์ สส.ระยอง เขต 5 ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
นายสุริยน กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ อ.บ้านฉาง ที่ไม่มีเอกสารสิทธิมานาน และมีข้อโต้แย้งที่จะได้รับเอกสารสิทธิแต่ว่าเรื่องไปไม่สุด และไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ และก็ยังมีเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องของไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ และบางส่วนมีไฟฟ้าแต่ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งวันนี้ก็จะมีการมาแก้ไขปัญหาใน 2 เรื่องดังกล่าว ซึ่งความเป็นมาเรื่องเดิมคือ สส.สว่างจิตต์ และท่านสินธ์ ได้ไปร้องเรียนกับรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย จึงได้ส่งเรื่องใหสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดิน ให้มาแก้ไขปัญหา โดยตั้งคณะทำงานพิจารณาแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งจะต้องออกเอกสิทธิให้ชาวบ้านที่มีปัญามาอย่างยาวนาน
ซึ่งส่วนหนึ่งก็ออกเอกสารสิทธิไปแล้ว ส่วนหนึ่งก็ยังค้างอยู่ ซึ่งก็ต้องเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาต่อ ซึ่งคณะทำงานก็ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา และก็มีการลงพื้นที่มาสภาพพื้นที่จริงในวันนี้ เนื่องจากข้อมูลแผนที่ที่คณะทำงานได้รับและปรากฎข้อเท็จบางส่วนยังไม่ตรง จึงได้ลงมาดู เพื่อตรวจสอบ และแยกประเภทของข้อมูลแผนที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการโต้แย้งสิทธิ และพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นข้อมูลแผนที่ของป่าที่ประกาศเพิกถอนประมาณ 60,000 กว่าไร่ และกันเป็นพื้นที่ป่าอีกประมาณ 10,000 ไร่ รวมทั้งอีก 1,400 ไร่ ด้วย ซึ่งจะมีการตรวจสอบขอบเขตพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งดูร่องรอยการเข้ามาอยู่ของชาวบ้านว่าเข้ามาอยู่ก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าหรือไม่ รวมทั้งดูภาพถ่ายทางอากาศด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่า ปัญหาดังกล่าว ขาวบ้านจะได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน และดีที่สุด รวมทั้งจะต้องหาคำตอบมาตอบชาวบ้านได้อีกด้วย
เดชา สุวรรณสาร ภาพ-ข่าว