ระยอง-สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ประชุมเตรียมความพร้อมต้อนรับ นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน “มหกรรมยางพารา EEC 2023” ที่จังหวัดระยอง

ระยอง-สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ประชุมเตรียมความพร้อมต้อนรับ นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน “มหกรรมยางพารา EEC 2023” ที่จังหวัดระยอง


เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ตลาดกลางยางพาราภาคตะวันออก ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะทำงานมหกรรมยางพาราและพืชเศรษฐกิจ EEC 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 26 กุมภาพันธ์ 2566

ทั้งนี้จะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงาน จัดโดยสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการยางและถุงมือยาง สถาบันการสร้างชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้ร่วมมือกันโชว์ศักยภาพความพร้อมยางพาราของไทยในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเพื่อให้รัฐบาลช่วยผลักดันให้เพิ่ม “พืชยางพารา” เป็นเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6 ที่ได้รับการสนับสนุนในพื้นที่

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ,กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย) สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าปัจจุบันแผนปฏิบัติการด้านพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที ซึ่งประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1. ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดระยอง และฉะเชิงเทรา 2. ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และระยอง

3. พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพเน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี 4. พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสนสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี และ 5. เกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ทั้งนี้สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ขอให้บรรจุเพิ่มยางพาราพืชเศรษฐกิจไว้ในแผนปฏิบัติการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พ.ศ. 2566 – 2570 สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 มีมติเห็นชอบร่าง โดยทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยขอเสนอให้ยางพาราอยู่ในเป้าหมายคลัสเตอร์ที่ 6

ดร.อุทัย กล่าวอีกว่าผลิตภัณฑ์จากยางพารานำเงินเข้าประเทศได้ 5 แสน 5 หมื่นล้านต่อปีขณะที่ข้าวได้เพียง 1 แสน 7 หมื่นล้าน แต่ปรากฏว่าใน 5 คลัสเตอร์ไม่มียางพารา ผมในฐานะผู้นำเกษตรยางพาราจึงต้องการรวบรวมคนในวงการยางพาราจัดงานนี้ขึ้นโดยไม่ได้ใชเงินของรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว เราทำงานกันแบบจิตอาสา จึงอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของยาง ซึ่งเกี่ยวพันถึงเกษตรกรกว่า 7 ล้านคนคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นของประเทศ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้ตอบรับที่จะมาเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 22 ที่จะถึงนี้

 

เดชา สุวรรณสาร ภาพ-ข่าว

Related posts