จิตติพจน์ วิริยะโรจน์ พรรคเพื่อไทย อัดกลางสภาฯ รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2566 หนา 1.5 พันหน้า ไม่มีแนวทางปฏิบัติ มีแต่แผน ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร์ เกี่ยวกับประเด็นรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2566ว่า ต้องขออนุญาตชื่นชม ผู้จัดทำรายงานที่สามารถทำรายงานเล่มใหญ่ ดูแล้วก็ประมาณ 1,500 หน้า น้ำหนักก็มากกว่า 2 กิโลกรัม โดยพิมพ์ 4 สีอย่างดี กระดาษอาร์ต ส่งมาให้กับสภาแห่งนี้ เพื่อให้สมาชิกได้อ่าน ต้องขอชื่นชมในความตั้งใจในการทำงาน อย่างไรก็ตามจะใช้ในทางปฏิบัติได้หรือไม่
รายงานฉบับนี้แบ่งออกเป็น 6 มิติ 23 ด้าน มีวิธีการอ่านด้วย และมีลักษณะเป็นสารานุกรมครับ เหมือนกับว่าไป search ดูว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง แต่ในแง่ของรายละเอียดในเชิงปฏิบัติว่าจะทำยังไงที่เป็นรูปประธรรม ยังไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ประเด็นแรกก็คืออยากจะให้การวางแผนยุทธศาสตร์ หรือการทำรายงานนั้นเป็นการทำรายงานที่สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้จริง ไม่อยากจะให้เป็นการบรรยายในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ดูแล้วประเด็นปัญหาเรื่องยุทธศาสตร์ การวางยุทธศาสตร์ 20 ปี เนื่องจากปี 2560 ถึง 2580 เป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ยาวนานเกินไป
จึงอยากให้มีความต่อเนื่อง แต่ด้วยเหตุการณ์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การวางยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นการวางยุทธศาสตร์ที่ยาวนานเกินไป ถึงจะมีการปรับปรุงตามสถานการณ์ เมื่อมีการวางโครงในปี 60 ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง การทำอะไรนอกกรอบก็จะทำได้ยาก เพราะมีทั้งปรากฏอยู่ในข้อจำกัดทางพระราชบัญญัติ ข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่าจะมีประโยชน์แต่ก็มีโทษอยู่ไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นหนึ่งที่เห็นชัดเจนครับ คือยุทธศาสตร์ที่เขียนมานั้นไม่มีการแยกครับว่าอะไรหนัก อะไรเบ าอะไรเร็ว อะไรช้า คือถ้าอ่านตามยุทธศาสตร์นี้ 6 มิติ 23 ด้าน ไม่ทราบเลยว่าภายใต้ข้อจำกัดของประเทศไทย ที่มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ข้อจำกัดทางด้านบุคลากรข้อจำกัดทางด้านเวลา ไม่ทราบเลยว่าควรจะทำเรื่องไหนก่อน คิดว่าประชาชนไม่ได้มีโอกาสอ่านเอกสารเล่มนี้ ทำให้ไม่ทราบแนวคิดของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะมีปัญหาเหมือนกัน ทำให้รายงานฉบับนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
เนื่องด้วยรายงานที่ทำออกมาเป็นลักษณะสารานุกรม ไม่มีการแยกหนักเบา ไม่มีการแยกว่าควรจะทำเรื่องอะไรก่อน ทำให้การอภิปรายของสมาชิกไม่สามารถที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ได้มีการเขียนเป็นข้อจำกัดเอาไว้เยอะๆ แทนที่จะเป็นประโยชน์ในการวางแผน แต่ด้วยโครงสร้างที่ถูกจำกัดโดยยุทธศาสตร์ 6 มิติ 23 ด้าน ทำให้การทำงานของรัฐบาลที่เข้ามาใหม่ทำได้ยากมาก
ขอยกตัวอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ ประเทศไทยคือดีทอยส์แห่งตะวันออก แต่ตอนนี้อุตสาหกรรมโดยเทคโนโลยีในโลก มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีรถยนต์ทางเลือกไม่ว่าจะเป็นรถ EV หรือรถไฟฟ้าที่ทำจากแบตเตอรี่ ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ หรือเป็น Hybrid ที่เป็น hev หรือ thv ก็มีทางเลือกหลายอย่าง หรือจะใช้พลังงานไฮโดรเจน ในรายงานก็ไม่มีทางออกให้กับประเทศไทย ควรจะทำอย่างไร ในรายงานฉบับนี้ก็ไม่ได้มีข้อมูล ให้สมาชิกสภาได้ช่วยกันคิดหรือให้ช่วยกันวางแผนว่าจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
อยากให้มองประเทศสิงคโปร์ มีการวางนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ ที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย ไม่ใช่แต่เพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสิงคโปร์เท่านั้น ประชาชนสิงคโปร์สามารถที่จะพูดคุยกัน เข้าใจกันได้ ปัจจุบันนี้สิงคโปร์เขามียุทธศาสตร์ชาติไม่กี่อย่าง ขอยกตัวอย่าง Digital Government และ Smart City ฟังแล้วเข้าใจง่ายมาก
แม้แต่ในสภาพยุโรป ก็มีการคิดนโยบายยุทธศาสตร์ ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาคือใช้ยุทธศาสตร์ดิจิทัล EU ดิจิทัล Identity wallet ก็คือใช้บัตรประชาชนซึ่งเป็น Digital ควบคู่กับกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่สามารถใช้ได้ทั่ว EU ถึง 27 ประเทศ อาทิ คนเยอรมันไปขับขี่รถยนต์ที่เบลเยี่ยมหรือฝรั่งเศสก็ใช้ใบขับขี่เดียวกัน การติดต่อกับแบงค์ ติดต่อธนาคารก็ใช้บัตรใบเดียว ยุทธศาสตร์ต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายชัดเจน เข้าใจทั้งรัฐบาลและประชาชนเวลาปฏิบัติก็จะปฏิบัติได้ง่าย แต่ยุทธศาสตร์ของไทย มีความซับซ้อนยุ่งยาก และก็ไม่มีการเสนอแนะ ประเทศของเรายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน หากทำเป็นลักษณะของรายงานทั่วๆไป แบบสารานุกรม ผลที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติจะไม่ค่อยดีและไม่มีประโยชน์
ภาพ/ข่าว ณพล บริบูรณ์, นภชนก เหมือนนามอญ รายงาน.