ชลบุรี#อุตสาหกรรมชลบุรีเข้ม!สั่งปิดรง.ทุนต่างชาติ เขตอ.บ้านบึง หลังตรวจพบไม่มีใบอนุญาต แจ้งให้สน.กฎหมายสำนักงานปลัดกระทรวง
ดำเนินคดีอาญา โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสน
เมื่อเวลา 10.40 น.วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี เลขที่ 97/125 ม.1 ถ.สุขุมวิท ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี “กำนันปาย” กำนันวีรวุฒิ สิงห์โตทอง กำนันต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พร้อมด้วย “สท.จี๊ด”นายวิรัตน์ เนื่องจำนงค์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหนองชาก ได้เดินทางไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี เพื่อยื่นหนังสือกับอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี ในเรื่องขอทราบความคืบหน้า กรณี บริษัทคิวเอ็มบี จำกัด ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ ม.2 ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 โดยไม่ได้มีใบอนุญาต (รง.4) โดยได้แนบเอกสาร บันทึกข้อเท็จจริง ของจนท.รัฐ ประกอบด้วย ปลัดฝ่ายปกครอง นายช่างอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี สท.เทศบาลต.หนองชาก ผู้ใหญ่บ้านม.2 ที่ได้ไปตรวจโรงงานดังกล่าว ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 และใบรายงานบันทึกประจำวัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ในเรื่องดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าของโรงงานที่ประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต และฝ่าฝืนให้พนักงานทำงานภายในโรงงานฯ โดย กำนันวีรวุฒิ สิงห์โตทอง ได้ยื่นหนังสือผ่านให้จนท.อุตสาหกรรมจ.ชลบุรี ให้ลงเลขรับหนังสือ เนื่องจาก นายชัชพล อินทโสม อุตสาหกรรมจ.ชลบุรี ติดภารกิจลงพื้นที่ไปตรวจโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
นายอนิรุทธ์ โพธิหล้า หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องใบอนุญาตโรงงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี ได้ทำหนังสือที่ ชบ.0033(2)/166 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ถึง กำนัน ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ไปแล้ว แต่คาดว่าหนังสือดังกล่าวอาจจะยังไม่ถึงปลายทางจึงขอชี้แจงให้ทราบว่า บริษัทคิวเอ็มบี จำกัด ประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ เช่น เครื่องรับสัญญาณเสียงไร้สาย เครื่องรับสัญญาณภาพ ยังคงมีการประกอบกิจการภายในโรงงานนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี ได้มอบหมายให้ จนท.ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่อำเภอบ้านบึง สำนักงานเทศบาลตำบลหนองชาก และสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านบึง เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม 2563 พบว่าบริษัทคิวเอ็มบี จำกัด มีการประกอบกิจการ ผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ ฯ การประกอบกิจการดังกล่าวจัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประเภทหรือชนิดของโรงงานลำดับที่ 72 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง(พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535
ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการตั้งและประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งมีความผิดตามมาตรา 50แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำและปรับ ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้สำนักงานกฎหมายสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาการกระทำความผิดแล้ว รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ทั้งนี้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้มีคำสั่งตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ให้บริษัทคิวเอ็มบี จำกัด ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ถูกต้อง รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ลงชื่อ นายชัชพล อินทโฉม อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบบริษัทคิวเอ็มบี จำกัด ผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ้านบึง เนื่องจากมีการประกอบกิจการโรงงานมูลค่าการลงทุนหลายพันล้าน แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน อีกทั้งยังมีนักการเมืองท้องถิ่น รวมถึงจนท.รัฐบางราย เข้าไปมีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งทาง “กำนันปาย”นายวีระวุฒิ สิงห์โตทอง กำนันต.หนองชาก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปกครองพื้นที่ พบว่าบริษัทคิวเอ็มบี จำกัด ตั้งโรงงานอยู่ในเขตพื้นที่เขตรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีโรงงานอีกจำนวนกว่า 50 โรงงาน อยู่ในพื้นที่ ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ยังมีโรงงานอีกหลายโรงงานประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต (ร.ง.4) ทำให้สร้างปัญหาให้กับท้องถิ่นและชุมชน ในส่วนของ บริษัทคิวเอ็มบี จำกัด นั้นได้ตั้งโรงงาน ในพื้นที่ ม.2 ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นโรงงานที่เป็นทุนต่างชาติ ผลิตชิ้นส่วน อิเลกทรอนิกส์ซึ่งอาจทำให้เกิดมลภาวะในพื้นที่ถ้าไม่มีใบประกอบกิจการที่ถูกต้อง มีการเปิดรับพนักงานเข้าทำงานในโรงงานดังกล่าวจำนวนกว่า 8 พันอัตรา ถ้าไม่มีใบประกอบการโรงงานถูกต้องแรงงานที่เข้ามาทำงานจำนวนมาก จะสร้างปัญหาให้กับท้องถิ่น เนื่องจากท้องถิ่นต้องดูแล รับภาระในเรื่องระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตั้งแต่เรื่องถนน ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดเก็บขยะ ที่พักอาศัย ระบบการรักษาความปลอดภัย การบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ จึงได้ยื่นหนังสือถึงอุตสาหกรรมจ.ชลบุรี เพื่อตรวจสอบและจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับโรงงานจำนวนกว่า 50 โรงงาน ที่มีใบอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี
ทีมข่าว ชลนิวส์ TV online รายงาน