MEA จับมือ CU และ EA ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ นำร่องระบบซื้อขายไฟแบบ Peer to Peer และ Smart Building
[embedyt] https://www.youtube.com/watch?v=J-BIXd3ATEE[/embedyt]
17 ธันวาคม 2562, กรุงเทพฯ – 3 CEO ชั้นนำด้านพลังงานและการศึกษา นำโดย การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA พร้อมด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU และ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจโครงการพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : ระบบซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer และอาคารอัจฉริยะ ระหว่างการไฟฟ้านครหลวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)” เพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตเมืองมหานครอัจฉริยะ เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้า ครั้งแรกในประเทศไทยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่จำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีความมุ่งมั่นในการเดินหน้ามหานครอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อยกระดับวิถีชีวิตเมืองมหานคร โดย MEA มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer และอาคารอัจฉริยะ ในพื้นที่การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญ ตั้งอยู่ ใจกลางเมืองและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูง มีศักยภาพในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ประมาณ 20 เมกะวัตต์
โดย MEA มีหน้าที่ในการออกแบบติดตั้ง Solar Rooftop และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สามารถรองรับการทดลองซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer รวมทั้งดูแลและควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการซื้อขายไฟฟ้าให้อยู่ในวงจำกัด ไม่กระทบต่อโครงข่ายของระบบจำหน่ายไฟฟ้าในภาพรวม โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะช่วยให้ กฟน. มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย เพิ่มความมั่นคง และความมีเสถียรภาพให้แก่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศในการลดค่าใช้จ่ายการลงทุนก่อสร้างหรือเลื่อนระยะเวลาที่จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ลงได้
ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวคิดในการพัฒนา Chula Smart Campus นั้น ประกอบด้วยวิสัยทัศน์ “SMART 5” คือ (1) SMART ENERGY (2) SMART ENVIRONMENT (3) SMART MOBILITY (4) SMART SECURITY และ (5) SMART COMMUNITY โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเน้นที่การพัฒนาเสาหลักทางด้าน SMART ENERGY
ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะที่ประกอบด้วยการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-peer และอาคารอัจฉริยะ พร้อมทั้งจะทำการทดลองการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระบบผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขายแบบ P2P เพื่อศึกษาผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าในประเด็นต่างๆ ทั้งการวิเคราะห์กลไกตลาด (Market Mechanisms) การออกแบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) สำหรับการซื้อขายไฟฟ้า และการออกแบบอัตราค่าผ่านทาง (Wheeling charge) ที่เหมาะสมกับการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P โดยคาดหวังว่าผลการศึกษาดังกล่าวจะช่วยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาประเทศในมิติทางด้านพลังงานและเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวอย่างหนึ่งของต้นแบบเมืองอัจฉริยะทางด้านพลังงานต่อไป
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า บริษัท พร้อมแล้วที่จะนำ Trading Platform ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้น โดยร่วมกับทีมงานของ Blockfint มาใช้ทดสอบซื้อขายพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ ณ สถานที่จริงเป็นครั้งแรก พื้นที่ที่ทดสอบในโครงการนี้จะพัฒนาเป็นอาคารอัจฉริยะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเหมาะสมและความพร้อมสูง สำหรับระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้านี้ ใช้ชื่อว่า Gideon (กิเดียน) เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน ที่ลูกค้าสามารถซื้อพลังงานจากผู้ผลิตได้โดยตรง มี AI ช่วยในการทำนายและเทรดได้แบบอัตโนมัติ และใช้เทคโนโลยี Block Chain เข้ามาจัดการ จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูง ซึ่งในระยะถัดไปบริษัทมีแผนจะทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และ มิเตอร์ไฟฟ้า เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ให้เป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานตามเจตนารมณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลสำเร็จจากโครงการนี้ จะนำไปสู่การมีระบบการผลิต จำหน่าย และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาโครงสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศให้รองรับกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเติบโตของการผลิตพลังงานทดแทนในประเทศ โดยที่ผ่านทั้ง 3 หน่วยงาน ได้มีการประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนมหานครอัจฉริยะมาอย่างต่อเนื่อง โดย MEA ได้ร่วมกับ EA ในการขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100 สถานี ทั่วเขตจำหน่ายของ MEA ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย ในขณะที่ MEA ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ CU ในการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าและนวัตกรรม รองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) โดยบูรณาการร่วมกัน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ในพื้นที่การศึกษาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 1,153 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนนพระราม 4 – ถนนพระราม 1 – ถนนบรรทัดทอง – ถนนอังรีดูนังต์ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของทั้ง 3 หน่วยงาน ในการเดินหน้าสร้างมหานครอัจฉริยะ โดยนำร่องที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใจกลางกรุงเทพฯ และพร้อมขยายต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน