สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี ย่างก้าว 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด

สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี ย่างก้าว 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดในโลก ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด

 

หลังจากที่มีการประกาศว่าสวนนงนุช (Nong Nooch Tropical Garden) พัทยา ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สวนสวยของโลก ได้สร้างความสนใจให้กับประชาชนอย่างมากมาย ที่ประเทศไทยมีสวนติดอันดับโลก หลายคนคงอยากจะรู้ความเป็นมาของสวนนงนุชว่ามีย่างก้าวความเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้เข้าไปสัมผัสสวนนงนุชว่ามีความยิ่งใหญ่อลังการมากน้อยเพียงใด

จากการที่ได้สัมผัสกับเสี่ยโต้ง หรือ กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี ชายรูปร่างผอมสูง และเต็มไปด้วยพละกำลัง ผู้นิยมชมชอบการสร้างภาพยนตร์ การทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้เหมือนกับภาพพยนตร์ เพื่อเล่าเรื่องต่างๆ ให้ผู้ชมผู้เห็นได้เข้าใจ แม้กระทั่งการผุดสวนนงนุชก็ตาม

กัมพล ตันสัจจา เล่าถึงประวัติความเป็นมาของสวนนงนุชว่า ในอดีตนั้น นงนุช ตันสัจจา ผู้เป็นแม่นั้นได้มีที่ดินใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ประมาณ 1,300 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก จะมีการปลูกมะพร้าว มะม่วงทิ้งไว้เป็นจำนวนมากนับพันต้น คุณแม่ชอบเกี่ยวกับต้นไม้ จึงได้เดินทางไปกับเพื่อนๆ เพื่อชมสวนพฤษศาสตร์ อาทิ ประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเชีย ส่วนตนเองไม่ชอบ เลยไม่ค่อยสนใจ และไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ชีวิตชมชอบเกี่ยวกับความศิวิไลซ์และสาวๆ เรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ก็เรียนรู้เหมือนกันเกี่ยวกับความรัก อกหัก ใช้เงินพ่อแม่ ก็เท่านั้นเอง

ต่อมาคนในครอบครัวไม่มีใครสนใจเกี่ยวกับที่ดินบริเวณสวนนงนุช เพราะมองดูแล้วการทำไร่ ทำสวน มันเหนื่อย จึงได้ตัดสินใจมารับช่วงต่อแทน พร้อมทั้งได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินมานานกว่า 40 ปีแล้ว จากพื้นที่ 1,300 ไร่ เพิ่มเนื้อที่ออกเป็น 1,700 ไร่ ยอมรับว่าทำทุกสิ่งทุกอย่างทุ่มด้วยแรงกายแรงใจของตนเองทั้งหมด ใส่ใจในทุกกิจกรรมที่ได้มีการเริ่มต้น หินทรายแทบทุกเม็ดจะต้องสัมผัสด้วยตัวเอง

การบริหารงานที่ผ่านมายอมรับว่าสวนนงนุชนั้นรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำเงินไม่ค่อยได้ ประกอบกับเป็นภาคเอกชนจะต้องเลี้ยงตัวเอง ไม่มีเงินทุนจากภาครัฐ หรือมูลนิธิใดๆ มาให้การสนับสนุน ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ภาครัฐหรือมูลนิธิให้การสนับสนุน ทำให้ไม่มีปัญหาในการบริหารงาน แต่ที่สวนนงนุชไม่ใช่ ทำด้วยตัวเองทั้งหมด ช่วงที่กิจการรุ่งเรืองมีพนักงานกว่า 4,000 คน ปัจจุบันต้องลดจำนวนลงเหลือประมาณ 2,000 กว่าคน

สาเหตุที่มีคนจำนวนมาก เพราะสวนนงนุชนั้นมีเครือข่ายครบวงจร อาทิ บริษัทออกแบบสวน บริษัทจัดสวน บริษัทดูแลต้นไม้ มีคนทั่วประเทศทำงาน ยอมรับว่าช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดนั้น รายได้เป็นศูนย์ เพราะไม่มีนั่งท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว โดยเฉพาะสวนนงนุชมีลูกค้ารายใหญ่คือ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ คนไทยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็จะเป็นนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ ที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ช่วงนี้มีแต่รายจ่าย แต่ก็ต้องประคับประคองเพื่อความอยู่รอด เงินไม่พอจ่ายพนักงานก็ต้องกู้ ช่วงนี้รายได้มาจากสวนพฤษศาสตร์ และสวนสัตว์จากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เข้ามาเที่ยวชมสวนนงนุช

แม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะระบาดหนัก แต่ทุกคนก็ต้องทำงาน เพราะไม่เช่นนั้นก็คิดฟุ้งซ่าน ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป แต่ทางสวนนงนุชก็พยายามหาเงินมาจ่ายให้กับพนักงาน ซึ่งตกเดือนละไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ช่วงนี้จะเป็นการทำงานภายในสวนนงนุชไปเงียบๆ เพื่อรอโอกาสและจังหวะที่ไวรัสโควิด-19 ลดจำนวนลง และหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกลับเข้ามาประเทศไทย ช่วงนี้ได้มีการริเริ่มโครงการต่างๆ ใหม่ภายในสวนนงนุช อาทิ พิพิธภัณฑ์หัวโขน การเตรียมสร้างช้างเอราวัณ 33 เศียร การเรียงหินองค์พิฆเนศ 32 ปาง รวมทั้งการเพาะชำกล้าไม้ต่างๆ เพื่อรอผู้เข้ามาชมความสวยงาม

หากมามองย่างก้าวของสวนนงนุชนั้น ช่วงแรกๆ เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว จะออกสไตล์ยุโรป อังกฤษ สวนนงนุขจะมีบ่อน้ำ มีเรือนกล้วยไม้ ส่วนใหญ่จะเดินดูกันไปเรื่อยๆ ยุคต่อมาเริ่มมีการนำไม้ใหญ่ประเภทปาล์มเข้ามาปลูกจำนวนมาก พร้อมนำแนวคิดเข้ามาปรับใช้ว่า คนเราต้องการดูอะไร ก็อยากจะดูอย่างนั้น เปรียบเสมือนการสร้างภาพยนตร์ที่มีความชอบเป็นการส่วนตัว ในอดีตชอบดูนางเอก เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ อรัญญา นามวงศ์ พระเอกก็ต้องสมบัติ เมทะนี สรพงศ์ ชาตรี ก็จะต้องนำพระเอกนางเอกเหล่านั้นมาแสดง

ก็จะส่งผลให้ภาพยนตร์ที่สร้างออกมาฉายไม่ขาดทุน แม้กระทั่งแนวภาพยนตร์ก็เช่นกัน คนต้องการดูหนังรัก หนังผี เราก็ต้องทำตามยุคตามสมัยที่คนต้องการดู จึงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับปรุงในสวนนงนุช จึงได้ลองจัดสวนปาล์มดู ที่สำคัญปาล์มนั้นเป็นต้นไม้ ที่สามารถเพาะปลูกในประเทศไทยได้ดีมาก ที่สำคัญใบไม่ร่วง ความสกปรกรกรุงรังจึงไม่มีให้เห็น จะเห็นได้ว่าคนที่เข้ามาเที่ยวสวนนงนุช จะไม่พบคนกวาดใบไม้ให้เห็นเลย

ต่อมาเป็นยุคของจูรสิกพาร์ค ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก ทั้งที่ไม่ได้คิดอะไรในจุดนี้ ต่อมาได้มีพนักงานขอปั้นไดโนเสาร์ 1 ตัว เห็นว่าแปลกดีจึงอนุญาตให้ปั้นไดโนเสาร์ ปรากฏว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวก็ไปถ่ายภาพกับไดโนเสาร์ตัวนั้นกันอย่างมากมาย มองดูแล้วเมื่อนักท่องเที่ยวสนใจ ก็เหมือนกันภาพพยนตร์เมื่อมีคนชอบ ก็ต้องตอบสนองความสนใจของนักท่องเที่ยว จึงได้สร้างไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ โดยเน้นโครงสร้างเสมือนจริง ตามสัดส่วนที่ค้นพบ ส่วนภายนอกนั้นไม่มีใครรู้ว่ามีลักษณะอย่างไร ก็ต้องจินตนาการเอาเอง ขณะนี้สร้างไปแล้วกว่า 1,000 ตัว ตั้งไว้ตามบริเวณที่ต่างๆในสวนนงนุช

ยุคต่อไปคงจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย โดยหวังว่าจะปลูกจิตสำนึกให้เด็กไทยรุ่นหลังๆ หันมานิยมความเป็นไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเล่าเรื่องต่างๆ แล้วนำมาสร้างละคร อาทิ นางสิบสอง อุทัยเทวี แม้กระทั่งอาหารไทย เช่น ผัดกะเพรา ต้มยำกุ้ง โดยเฉพาะของไทยๆ จะหันมาอนุรักษ์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเป็นไทยให้คนต่างชาติเข้ามาชื่นชม

หากใครเข้ามาเยือนสวนนงนุช นั่งรถชมจะใช้เวลา 50-60 นาทีนั้น พยายามที่จะปรับสภาพของสองข้างทางที่รถวิ่งผ่านนั้น ให้เสมือนการเล่าเรื่องคล้ายภาพยนตร์ ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้ ไม่เกิดความเบื่อหน่าย หลังจากนั้นหากชมชอบพื้นที่ส่วนใดก็ไปดูตามพื้นที่ต่างๆ ภายหลังที่นั่งรถชมสวนแล้ว ต้องยอมรับว่า พ่อ แม่ และลูกนั้นอาจจะชอบไม่เหมือนกัน แต่ที่สวนนงนุชมีพื้นที่หลายแห่งจัดไว้สำหรับความต้องการของคนทุกระดับ

นอกจากนี้สวนนงนุช ได้มีการพัฒนาจากรูปแบบการจัดสวน ทำสวนแล้ว ต่อมาจะเน้นในเรื่องแหล่งเรียนรู้ เลยกลายมาเป็นสวนนงนุช 2 โดยมีการนำเอาแหล่งความรู้ต่างๆ อาทิ การเผาถ่าน การทำน้ำส้มควันไม้จากถ่าน ที่สำคัญแหล่งที่เรียนจะใช้จอภาพ LED ขนาดใหญ่เพื่อให้เห็นภาพจัดเจน ไม่เกิดความเบื่อหน่าย รวมทั้งการพัฒนาสวนนงนุช 3 จะเน้นในเรื่องของการจัดประชุมสัมมนา เพื่อให้เกิดบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมหากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ลดลง คาดว่าคงจะมีกิจกรรมเกิดขึ้นอีกมากมาย

ส่วนความฝันของ กัมพล ตันสัจจา อันสูงสุดอยากให้เกิด “ไทยการ์เด้น” การที่รับจัดสวนทั่วประเทศนั้น เพื่อสร้างแนวความคิด (CONCEPT) ว่า พ็อกเกตพาร์คอินเดอะพาร์ค โดยเฉพาะกรุงเทพฯนั้น จะต้องมีพ็อกเกตพาร์คเยอะๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และเมื่อเกิดกิจกรรมพื้นที่นั่งเล่น เดินเล่น ออกกำลังกาย พบปะผู้คนที่ไม่รู้จักกัน โดยไม่ต้องใช้เงินนั่นคือความหมายอินเดอะพาร์ค ซึ่งจะทำให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้น โดยการชมธรรมชาติ มีเพื่อนที่ไม่รู้จักพูดคุย จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นี่คือความฝันอันยิ่งใหญ่ของชายที่ชื่อ กัมพล ตันสัจจา ที่จะสานต่อความฝันให้เป็นจริงในอนาคต

 

ชลนิวส์ทีวีออนไลน์รายงาน

Related posts